7-11 อาจถูกสั่งปิดสาขาเพราะมีมากเกินไป แต่ขอโทษ! นี่เป็นเรื่องจริงที่ไม่ได้เกิดในแดนสารขันธ์

7-11

เมื่อ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในสหรัฐอเมริกาเกิดดีลการซื้อกิจการครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ 

Seven & i Holdings บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นซึ่งเป็นเจ้าของกิจการ 7-11 ในอเมริกาได้บรรลุข้อตกลงซื้อกิจการปั๊มน้ำมันและร้านสะดวกซื้อ Speedway จาก Marathon Petroleum Corp.ด้วยมูลค่าสูงถึง 2 หมื่นล้านดอลลาห์สหรัฐ 

Speedway ครองตลาดในพื้นที่ มิดเวสต์ ซึ่งกินพื้นที่ถึงสิบสองรัฐในอเมริกา และยังมีสาขาในภาคอื่นๆ อีกรวมทั้งหมดถึง 3,900 แห่ง

นั่นทำให้ 7-11 จะมีจำนวนสาขาทะลุไปถึง 14,000 สาขา ทำให้ 7-11 กลายเป็นเจ้าตลาดหนึ่งเดียวที่จะนำโด่งทุกๆเชนสโตร์สะดวกซื้อ 

และนั่นทำให้หน่วยงานภาครัฐ  Federal Trade Commission (FTC) หรือ คณะ​กรรมาธิการว่าด้วยการค้าแห่งสหพันธรัฐ มองดีลครั้งนี้เป็น “ความกังวลด้านการแข่งขันทางการค้าอย่างสูง” เรื่องนี้ได้ถูกระบุในเอกสารข่าวอย่างเป็นทางการของ FTC โดย รักษาการประธานกรรมการ รีเบคก้า เคลลี่ ที่ออกจดหมายนี้เพื่อตอบโต้การเข้าซื้อกิจการ Speedway ของ 7-11 อย่างทันควัน

รายละเอียดยังถูกเปิดเผยโดย คณะกรรมการหลายคน ว่าเรื่องการควบกิจการของ 7-11 นั้นอยู่ในการจับตาของ FTC มาตลอดแม้ว่ายังไม่มีความชัดเจนจากรัฐว่าการซื้อกิจการนี้ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่เพราะอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา แต่ FTC จะไม่หยุดติดตามเรื่องนี้จากที่เนติกรรัฐ และเชื่อว่าการควบซื้อกิจการในครั้งนี้ทำให้เกิดการเป็นผูกขาดตลาดซึ่งผิดกฎหมายของอเมริกา 

ถ้ามาดูอันดับร้านค้าในอเมริกาก่อนการซื้อกิจการ อันดับหนึ่งคือ 7-11 ที่ราวๆหนึ่งหมื่นสโตร์ อันดับสองคือ Circle Kเจ็ดพันกว่าสโตร์   Speedway ตามมาอันดับสามที่ สามพันแปดร้อยกว่าสโตร์  และมี CASEY’S GENERAL STORES INC. ตามมาที่ สองพันกว่าสโตร์ในอันดับที่สี่ 

นั่นหมายความว่าเมื่อ 7-11 ได้ Speedway มาครอบครองจะมีจำนวนมากกว่า อันดับสอง Circle K ถึงสองเท่าเลยทีเดียว จึงไม่น่าแปลกใจที่ FTC จะมองเรื่องนี้อย่างระแวดระวัง

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ 7-11 ได้เข้าหารือประชุมกับ FTC ตั้งแต่เมษายนก่อนปิดดีลว่าจะหาทางลดจำนวนร้านค้าประมาณ 293 แห่งโดยขายให้กับคอนวีเนียนสโตร์รายอื่น โดยไม่ได้ระบุว่าจะขายให้ใครหรือสาขาใดบ้าง

แล้วหลังจากนั้นในปลายเดือนเมษายน โดยไม่แน่ชัดว่ารวมอยู่ในข้อตกลง 293 สโตร์กับ FTC หรือไม่ 7-11 ก็ได้ขาย106 สาขาให้กับ  CrossAmerica ที่เป็นเชนปั๊มน้ำมันและร้านสะดวกซื้อในอันดับล่างๆ 

แต่อย่างที่ทราบจากข้างต้นว่าทันทีที่ดีลปิดลงในกลางพฤษภาคม FTC ก็ออกจดหมายข่าวตอบโต้ดังกล่าว แสดงว่าเรื่องนี้คงไม่ได้จบกันง่ายๆแน่ และแน่นอนว่า FTC ย่อมไม่เคยตกลงว่าหาก 7-11 ขายกิจการออกไปบ้างแล้วมันจะจบ  

ดังนั้นข้อตกลงที่ 7-11 กล่าวก็คงเป็นเพียงข้อเสนอที่ทาง FTC เพียงแต่กอดอกรอดูเท่านั้น แอ็คชั่นนี้ของ 7-11 จึงเป็นเพียงการลดแรงกดดันและลดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการผูกขาดตลาดจากทั้งภาครัฐ และภาคประชาชนที่จับตาดูอยู่เท่านั้น

แต่ที่แน่ๆเรื่องนี้ทำให้เรารู้ว่าในประเทศที่ใส่ใจในการแข่งขันอย่างเป็นธรรมเขาเอาจริงเอาจังกับเรื่องการผูกขาดตลาดแค่ไหน 

หันมามองไทยเรา เมื่อ CP ปิดดีลซื้อ Tesco Lotus ได้ไม่กี่เดือนก่อน ทำให้ได้ครองทั้งตลาดระดับครัวเรือน(ใกล้บ้าน) ตลาดระดับซูเปอร์สโตร์ จนถึงตลาดค้าส่ง แต่ภาครัฐไทยก็มองว่า ยังไม่ใช่การผูกขาดตลาด ถึงแม้ว่าเราจะแทบมองไม่เห็นร้านสะดวกซื้อตัวเลือกอื่นแถวๆบ้านเลยมาเกือบทศวรรษ

ถ้าเรื่องที่เกิดในดินแดนสารขันธ์นี้เกิดขึ้นในอเมริกาสงสัยจริงๆเลยว่า FTC เขาจะว่ายังไง เพราะว่าเอาเข้าจริงๆร้านสะดวกซื้อ 14,000 สาขาของ 7-11 นับเป็นเปอร์เซ็นต์จากจำนวนร้านสะดวกซื้อประมาณ 150,000 แห่งทั่วอเมริกา ก็เพียงราวๆ 10% ของร้านทั้งหมด FTC ยังทำงานเดือดขนาดนี้ 

ถ้ามาเจอทุกหัวมุมถนนแบบในประเทศสารขันธ์ จะเดือดขนาดไหน

ติดตามบทความเรื่อง การเงิน การลงทุน และธุรกิจได้ที่ มาร์เก็ตติ่ง 
เวปไซด์ mee-money.com