หนึ่งในเทรนด์โลกปี 2021 คือการหันมาบริโภค Plant-base meat

หนึ่งในเทรนด์โลกปี 2021 คือการหันมาบริโภค Plant-base meat หรือเนื้อเจแบบยุคใหม่

กระแสเนื้อมังสวิรัติเริ่มเข้ามาในไทยช่วงปลายปี อาจจะดูไม่บูมมากนัก แต่ก็เริ่มต้นแล้วโดย เบอร์เกอร์คิงประเทศไทยที่เสนอเมนูเบอร์เกอร์เนื้อไม่ใช่เนื้อมาให้คนไทยได้ลิ้มลองกัน

ยังมีเมนูเบอร์เกอร์และเสต็กของซิสเลอร์ที่นำเอาเนื้อไม่ใช่เนื้อมาขายในราคาที่สูงกว่าเมนูทั่วไปอยู่ ผลตอบรับของคนไทยยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

แต่ที่รู้คือในระดับโลก กระแสเนื้อไม่ใช่เนื้อ เนื้อที่มาจากพืช หรือ Plant-based meat เป็นกระแสที่ไม่ใช่แฟชั่นแต่มาจริงๆ

ในปี 2019 ขนาดตลาดโลกของ เนื้อสัตว์สังเคราะห์จากพืชอยู่ที่ 3.3 พันล้านดอลล่าห์สหรัฐ ในขณะที่ปี 2020 ขนาดตลาดอยู่ที่ 4.3 พันล้านดอลลาห์สหรัฐ หมายถึงเติบโตขึ้น 30% ในปีเดียว ไม่ใช่แค่นั้นจากกราฟที่หาข้อมูลชัดๆไม่ค่อยได้ บอกได้ว่ามีการเติบโตคิดเป็นราวๆ 18% ต่อปีโดยเฉลี่ยมาตั้งแต่ปี 2016 ดังนั้นนี่ไม่ใช่ตัวเลขที่เป็นแฟชั่นแน่นอน

ทำไม Plant-based meat ถึงปังในต่างประเทศ

มีกลุ่มคนส่วนน้อยที่เรียกว่า วีแกน หรือพวกที่กินพืชมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าจะไม่เติบโตจนมีนัยยะ แต่ว่าพวกเขาก็เป็นฐานของกลุ่มที่บริโภคอาหารที่ไม่ทำจากเนื้อสัตว์ แต่ระยะหลังๆ เกิดแนวร่วมของคนที่ไม่ใช่ วีแกน แต่หันมาบริโภคอาหารที่ทำจากพืชเนื่องมาจากความกังวลสนใจของผู้คนที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

ในระยะหลังในหมู่ประเทศพัฒนาแล้ว มีการให้ข้อมูลในผู้บริโภคอย่างจริงจังเกี่ยวกับการปศุสัตว์ที่มีส่วนสำคัญในการทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งระหว่างการเลี้ยง ของเสียที่ออกมาจากปศุสัตว์ ในรูปของก๊าซที่ทำลายชั้นบรรยากาศ สร้างกาซเรือนกระจก และอีกมากมาย ซึ่งเมื่อเทียบกับการเกษตรที่แม้จะมีข้อครหาเกี่ยวกับการใช้สารเคมีแต่ว่านับว่าผลกระทบในด้านลบต่อโลกของการเลี้ยงสัตว์มีมากกว่ามากอย่างเทียบกันไม่ติด

ทำให้ผู้บริโภคที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมกลายเป็นแนวร่วมที่แข็งขัน

จุดหักเห

เมื่อมีผู้ต้องการก็ย่อมต้องมีผู้เสนอบริการ ในท่ามกลางผู้ประกอบการเนื้อทางเลือกทั้งหลาย Beyond Meat ที่ก่อตั้งในปี 2009 เป็นบริษัทแรกที่พัฒนาระบบการผลิตสำหรับตลาดขนาดใหญ่ และได้กลายเป็นผู้เล่นสำคัญที่สามารถจำหน่าย เนื้อทางเลือก ให้กับร้านอาหารที่ต้องการวัตถุดิบในราคาและคุณภาพที่เหนือกว่า

แต่ก็มีร้านที่พัฒนากันเอง

ร้านสำหรับชาววีแกนที่กลายเป็นร้านฮิตในกรุงมินนาโพลิสแห่งรัฐมินิสโซต้า The Herbivorous Butcherเป็นที่รู้กันว่าถ้าใครอยากทานเนื้อจากพืชที่มีรสชาติเหมือนเนื้อสัตว์ให้มาที่นี่ เจ้าของร้านเป็นสองพี่น้อง ออบรี และ เคล วอล์ช เป็นวีแกนกันตั้งแต่เล็กๆ สิ่งที่รบกวนจิตใจพวกเขาคือ ทำไมตัวเลือกอาหารสำหรับพวกเขามันน้อยเหลือเกิน เมื่อไม่คิดที่จะรอยักษ์ใหญ่อย่าง Beyong meat พัฒนาเนื้อดีๆให้กับพวกเขา พวกเขาจึงเลือกที่จะเปิดร้านและทำสูตรเนื้อจากพืชด้วยตัวเอง

จากบทสัมภาษณ์ พี่น้องวอล์ช ให้ความสำคัญกับลักษณะของการเป็นเนื้อแม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้บริโภค พวกเขาศึกษาขั้นตอนที่เนื้อเกิดการสุกและเกิดฟอร์มตัวให้มีความหยุ่นไม่ยุ่ย เพื่อนำมาลอกเลียนให้การกัดเนื้อจากพืชที่พวกเขาผลิตนั้นให้ความรู้สึกเหมือนกัดเคี้ยวเนื้อสัตว์จริงๆ 

คุ้นๆมั้ยว่าในไทยก็มี

ทุกๆปีในประเทศไทยเรามีมหกรรมอาหารเจช่วงสั้นๆ ซึ่งเป็นแหล่งรวมของเนื้อไม่ใช่เนื้อที่มีหลากหลายรูปแบบจนละลานตา บ้างอาจไม่โดดเด่น แต่หลายๆร้านก็ทำได้อร่อยและสามารถทำได้ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ระดับหนึ่ง ถึงขนาดที่ว่าคนชาติอื่นๆ เช่น จีน ไต้หวัน มาเลเซีย มาร่วมเทศกาลนี้เพราะความอร่อยของอาหารเจในประเทศไทย

แต่ต้องยอมรับว่า แม้ว่าจะรสชาติดี แต่ยังไม่มีใครทำออกมาเหมือนเนื้อแบบได้90% ยังไม่มีร้านเจที่ไหนทำได้แบบที่ Beyond meat และ ร้านเล็กๆของพี่น้องวอล์ชเคลมว่าทำได้

น่าเสียดายที่อาหารเจเป็นมรดกตกทอด ที่ถ้าฉวยเวลาใช้โอกาสที่มีมากมายทำการศึกษาและต่อยอดเราน่าจะไปได้ไกล ไม่แน่ว่าเมื่อรวมกับฐานะผู้ผลิตสินค้าเกษตรอันดับต้นของโลกอย่างไทยอาจได้เปรียบ และกลายเป็นผู้เล่นในตลาด Plant-based meat ที่กำลังเติบโตนี้ได้

พี่น้องวอล์ช พวกเขามีเพียงความไม่พอใจในสิ่งที่ได้รับ ใช้การทดลองเพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่าให้สำเร็จ 

แต่ไทยเราเลือกที่จะทำในสิ่งที่บรรพบุรุษทำไว้อย่างไรก็ทำไปอย่างนั้น จนพลาดโอกาสสำคัญ

ไม่แน่ว่า นี่คือกับดักคำว่า “อนุรักษ์” ที่เราต้องหยุดยอมให้ใครมาท่องให้ฟังได้แล้ว

ติดตามบทความเรื่อง การเงิน การลงทุน และธุรกิจได้ที่ มาร์เก็ตติ่ง 
เวปไซด์ mee-money.com